วันพยาบาลสากล
พยาบาล ถือเป็นอาชีพหนึ่งที่มีความสำคัญต่อมนุษยชาติมากที่สุดอาชีพหนึ่งของโลก เพราะต้องคอยดูแลผู้เจ็บไข้ได้ป่วยโดยไม่เกี่ยงชนชั้นและอาชีพ อีกทั้งยังเป็นผู้ที่ให้ความดูแลเราอย่างใกล้ชิด เรียกได้ว่าใช้เวลาอยู่กับเรามากกว่าหมอเสียอีก จึงเรียกได้ว่า... อาชีพพยาบาลเป็นอาชีพปิดทองหลังพระที่แท้จริง! เนื่องใน วันพยาบาลสากล ที่กำลังจะมาถึงนี้ Ged Good Life จึงขอถือโอกาสนี้นำเสนอความเป็นมาพยาบาลให้มากขึ้นกันดีกว่า
![](https://pronto-core-cdn.prontomarketing.com/297/wp-content/uploads/sites/2/2018/05/4145-%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A5-1.jpg)
วันพยาบาลสากล (International Nurses Day)
นอกจากวันพยาบาลแห่งชาติ ที่ตรงกับวันที่ 21 ตุลาคมของทุกปีแล้ว สภาพยาบาลระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพพยาบาลระดับโลก ได้กำหนดให้วันที่ 12 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันพยาบาลสากล นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514
ที่ต้องเป็นวันที่ 12 พฤษภาคม ก็เพราะวันนี้ เป็นวันเกิดของ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ผู้ให้กำเนิดวิชาชีพการพยาบาลแผนปัจจุบัน และเป็นผู้มีอุดมการณ์ ตั้งใจบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เพื่อมวลมนุษย์อย่างแท้จริง จนได้รับการยกย่อง และเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
วันพยาบาลสากลจึงถูกกำหนดขึ้นเพื่อรำลึกถึงคุณความดีของ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ที่สร้างประโยชน์ให้แก่มวลมนุษย์อย่างมากมาย รวมทั้งเพื่อยกย่อง ให้เกียรติ และยึดถือเอาเป็นแบบอย่าง นอกจากนี้ ยังมีจุดมุ่งหมายให้พยาบาลทั่วโลก ร่วมมือกันจัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์แก่สาธารณชน และกำหนดแนวทางในการให้พยาบาลทั่วโลก ได้รณรงค์แก้ไขปัญหาด้านสุขภาพอีกด้วย
![](https://pronto-core-cdn.prontomarketing.com/297/wp-content/uploads/sites/2/2018/05/4145-Florence-Nightingale.jpg)
ประวัติ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล
ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) เป็นชาวอังกฤษ แต่เกิดที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 1820 ครอบครัวของฟลอเรนซ์ ไนติงเกล จัดว่าเป็นชนชั้นสูงที่มีฐานะดี ทำให้เธอได้รับการศึกษาเป็นอย่างดีฟลอเรนซ์ ไนติงเกล มีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ จึงขอบิดามารดาเรียนพยาบาล แต่เนื่องจากในยุคนั้น งานพยาบาลถือเป็นงานของชนชั้นแรงงาน และไม่ได้รับความนับถือจากคนในสังคมชั้นสูงนัก ครอบครัวของเธอจึงปฏิเสธ แต่ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ก็ยังมุ่งมั่นทำงานเพื่อผู้ที่เจ็บป่วย และคอยหาโอกาสได้ไปเยี่ยมตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ก่อนเข้าศึกษาอบรมวิชาพยาบาลที่ประเทศเยอรมนีสมดังใจ
ต่อมาในปี 1857 เกิดสงครามไครเมียขึ้น ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล อาสาไปช่วยดูแลทหารที่บาดเจ็บจากสงคราม นอกจากเสียสละทรัพย์สินส่วนตัวแล้ว เธอยังขอเรี่ยไรจัดหาเครื่องเวชภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือทหาร และออกเยี่ยมเยียนเพื่อรักษา และให้กำลังใจทหารตั้งแต่เช้าจนค่ำ มักมีคนเห็นฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ถือตะเกียงเล็ก ๆ คอยเดินตรวจอาการของเหล่าทหารกลางดึกอยู่เสมอ จนผู้คนต่างพากันเรียกเธอว่า The Lady with the Lamp![](https://pronto-core-cdn.prontomarketing.com/297/wp-content/uploads/sites/2/2018/05/4145-%E0%B9%84%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A5.jpg)
ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ยังเป็นผู้ที่ริเริ่มเสนอแนวคิดเรื่องการรักษาความสะอาดในสถานพยาบาล เนื่องจากในสมัยนั้น ยังไม่มีคนรู้จักสิ่งที่เรียกว่า เชื้อโรค มากนัก ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล คือผู้ที่สังเกตเห็นว่า ทหารที่มีบาดแผลสกปรก จนเกิดการอักเสบ จะมีอัตราการเสียชีวิตสูง และเรียกร้องให้มีการรักษาความสะอาดในสถานพยาบาลอย่างเคร่งครัด
![](https://pronto-core-cdn.prontomarketing.com/297/wp-content/uploads/sites/2/2018/05/4145-%E0%B9%84%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A5.jpg)
ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ยังเป็นผู้ที่ริเริ่มเสนอแนวคิดเรื่องการรักษาความสะอาดในสถานพยาบาล เนื่องจากในสมัยนั้น ยังไม่มีคนรู้จักสิ่งที่เรียกว่า เชื้อโรค มากนัก ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล คือผู้ที่สังเกตเห็นว่า ทหารที่มีบาดแผลสกปรก จนเกิดการอักเสบ จะมีอัตราการเสียชีวิตสูง และเรียกร้องให้มีการรักษาความสะอาดในสถานพยาบาลอย่างเคร่งครัด
หลังสงครามสิ้นสุดลง ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ได้พัฒนากิจการพยาบาลให้ก้าวหน้าขึ้น จนได้รับการยอมรับให้เป็นผู้จัดระเบียบด้านสุขภาพในกองทัพประเทศอังกฤษ วางแผนงานด้านสุขาภิบาลในประเทศอินเดีย ก่อนจะก่อตั้งโรงเรียนการพยาบาลที่เป็นต้นแบบของโรงเรียนพยาบาลทั่วโลก
วันพยาบาลสากล ในประเทศไทย
สำหรับในประเทศไทยนั้น สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย ได้เข้าเป็นองค์กรสมาชิกสภาพยาบาลระหว่างประเทศ เมื่อ พ.ศ. 2504 และเริ่มจัดกิจกรรมวันพยาบาลสากลครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2529 โดยมีจุดประสงค์สำคัญเพื่อ ยกย่อง ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ผู้เป็นบูรพาจารย์แห่งการพยาบาล และประกาศเกียรติคุณให้ประชาชนได้ทราบ อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่บทบาทของพยาบาลต่อสุขภาพของประชาชนให้ทราบเป็นประจำทุกปี
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น