วันผู้ลี้ภัยโลก

วันที่ 20 มิถุนายนของทุกปีได้ถูกกำหนดให้เป็น “วันผู้ลี้ภัยโลก” โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อระลึกถึงความเข้มแข็งและความพยายามของผู้ลี้ภัยและให้กำลังใจกับพวกเขา ด้วยเหตุนี้เองเราจึงอยากนำแสนอ 5 เหตุผลที่จะบอกกับผู้อ่านทุกๆคนว่าผู้ลี้ภัยไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิดและเข้าใจกัน

ผู้ลี้ภัยคือคนธรรมดาเหมือนกับพวกเรา
จริงๆ แล้ว ผู้ลี้ภัย คือ “คนธรรมดา” ทั่วไปเหมือนกับคนอีกหลายๆ คนที่มีบ้าน มีครอบครัว มีคนที่รัก มีงานทำ ความรู้สึก มีความฝัน ฯลฯ เพียงแต่โชคชะตาบีบบังคับให้พวกเขาต้องทิ้งชีวิตที่พวกเขา “เคยมี” และต้องหนีออกจากประเทศเพื่อความอยู่รอดของชีวิตตนเองและครอบครัว คงไม่มีใครที่อยากออกจากประเทศบ้านเกิดที่ตนเองคุ้นเคยและอยู่อย่างสงบสุข มาใช้ชีวิตแบบคน “ไม่มีอะไรเลย” แบบนี้

แม้ผู้ลี้ภัยอาจจะรู้สึกซาบซึ้งใจจากการได้รับช่วยเหลือแต่เหตุผลที่พวกเขามาอยู่ตรงนี้ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาต้องการแน่นอน Khadegah ผู้ลี้ภัยจากประเทศซูดานที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยประเทศชาด ได้พูดถึงความรู้สึกที่เธอมีในฐานะผู้ลี้ภัยว่า “มันเป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับฉันที่จะเข้าใจถึงการนองเลือดนี้เพราะฉันเองก็ไม่เคยคิดที่จะทำร้ายใคร แต่ฉันต้องมาเห็นคนในครอบครัวของฉันที่ทั้งถูกฆ่าและถูกทำร้าย ฉันถูกระบุว่าเป็นหนึ่งในผู้ลี้ภัยจากดินแดนขัดแย้งของดาร์ฟูร์ประทศซูดาน ฉันคิดถึงพ่อแม่และครอบครัวของฉันอยู่เสมอและนึกถึงเพื่อนบ้านของฉัน ฉันไม่รู้เลยว่าพวกเค้าตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง ยังมีชีวิตอยู่รึเปล่า?”

ผู้ลี้ภัยคือหนึ่งในทรัพยกรมนุษย์ที่มีศักยภาพ
ส่วนใหญ่ผู้ลี้ภัยมักถูกมองในแง่ลบ ว่าเป็นบุคคลไร้ความสามารถ เป็นภาระและไร้ประโยชน์ แต่ถ้าเรามองผู้ลี้ภัยในอีกมุมหนึ่งเราจะเห็นว่าพวกเขาก็มีความสามารถ มีความรู้ และมีศักยภาพที่เป็นประโยชน์ติดตัวมา อาทิเช่น ผู้ลี้ภัยจากประเทศซีเรียที่มีทั้ง หมอ ทนายความ วิศวกร ครูและอีกหลายอาชีพที่เป็นประโยชน์ อีกทั้งผู้ลี้ภัยเหล่านี้ยังมีความมุ่งมั่นและมีความอดทนเป็นอย่างมากในการทำงาน เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง โดยหวังว่าลูกๆ ของพวกเขาจะได้มีโอกาสเรียนหนังสือและตอบแทนประเทศที่ให้การช่วยเหลือพวกเขาในฐานะพลเมืองที่ดี

ประเทศเยอรมันเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ที่เปิดพรมแดนอย่างกว้างขวางสำหรับผู้อพยพและมีนโยบายที่เป็นรูปธรรมในการรองรับผู้ลี้ภัยเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยมีพระราชบัญญัติผลประโยชน์ของผู้ขอลี้ภัย(Asylum-Seekers' Benefits Act) ในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในประเทศเยอรมัน ในการดูแลเรื่องที่อยู่อาศัย

อาหาร เสื้อผ้า หรือของใช้ส่วนตัวที่จำเป็น เช่น โทรศัพท์มือถือ การบริการทั่วไป และรวมไปถึงเงินช่วยเหลือ ซึ่งการช่วยเหลือเหล่านี้เป็นนโยบายของประเทศเยอรมันที่จะให้การช่วยเหลือผู้ลี้ภัย และในทางอ้อมก็เป็นการส่งเสริมการนำทักษะและศักยภาพของผู้ลี้ภัยมาช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศที่ขาดแคลนแรงงาน

ผู้ลี้ภัยไม่ได้มาแย่งงานแต่ผลักดันการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
มีคำถามว่าแล้วถ้าผู้ลี้ภัยเข้ามาทำงานในประเทศมากขึ้น คนในประเทศเองจะเสียโอกาสในการทำงานไหม? จากการศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์เรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานระบุว่า การที่มีผู้ลี้ภัยมากขึ้นในตลาดแรงงานไม่ได้ส่งผลเสียร้ายแรงต่อคนในประเทศนั้นๆ เพราะว่าคนในประเทศนั้นกับผู้ลี้ภัยมีความสามารถและทักษะที่เหมาะสมกับงานที่แตกต่างกัน บวกกับงานส่วนมากยังคงต้องใช้ความสามารถเฉพาะของคนในพื้นที่ ที่ผู้ลี้ภัยไม่สามารถทำแทนได้ เช่น งานที่ต้องใช้ภาษาท้องถิ่นในการสื่อสารเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม การมีผู้ลี้ภัยมากขึ้นในตลาดแรงงานจะเป็นเหมือนแรงผลักดันทางอ้อมให้เกิดการแข่งขันและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาความสามารถของคนในประเทศมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อความก้าวหน้าในระยะยาวของประเทศนั้น เพราะจะมีการพัฒนาด้านทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสามารถอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นสิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การให้ผู้ลี้ภัยมี “โอกาสได้ใช้ชีวิต” เหมือนคนปกติในสังคม ที่ต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว เพราะพวกเขาไม่ได้ต้องการเป็นภาระของประเทศที่ให้การช่วยเหลือเช่นกัน

การรับผู้ลี้ภัยไม่กระทบต่อการใช้เงินภาษีของคนในประเทศ
แน่นอนว่าการช่วยผู้ลี้ภัยจำเป็นต้องใช้การสนับสนุนทางการเงิน แต่ในความเป็นจริงแล้วการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยไม่ได้พึ่งพาภาษีคนของในประเทศมากมายขนาดนั้น เพราะมีองค์กรระหว่างประเทศ เช่น UNHCR ที่มีหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิและความเป็นอยู่ของผู้ลี้ภัย ให้การสนับสนุนงบประมาณสำหรับประเทศที่รับรองผู้ลี้ภัยไว้ หรือองค์กรระหว่างประเทศอย่าง Red Cross ก็มีความพร้อมที่จะให้เงินสนับสนุนประเทศที่ให้การช่วยเหลือผู้ลี้ภัย โดยที่ไม่ต้องนำภาษีของคนในประเทศนั้นมาใช้จ่าย

Um Nawwaf ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียที่อยู่ในประเทศจอร์แดนที่ได้รับเงินช่วยเหลือจาก International Committee of the Red Cross (ICRC) ผ่านโครงการความช่วยเหลือด้านเงินสดโดยเธอได้พูดว่า “เงินนี้ช่วยให้เราได้จ่ายค่าเช่า บิลไฟฟ้า ซื้ออาหาร และของที่จำเป็นเพื่อประทังชีวิต” หากมองในระยะยาว ถ้าผู้ลี้ภัยเหล่านี้ได้ลงหลักปักฐานในประเทศที่ให้การช่วยเหลือ ได้รับสถานะเป็นพลเมืองของประเทศนั้น และมีโอกาสได้ทำงานที่ดีเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว พวกเขาก็สามารถช่วยจ่ายภาษีให้กับภาครัฐเพื่อนำเงินไปพัฒนาประเทศต่อไป

ผู้ลี้ภัยช่วยสร้างสังคมที่เห็น ‘ความเป็นมนุษย์’ ของกันและกัน
ถ้าเราลองมองข้ามความแตกต่าง ทั้งทางสีผิว ความเชื่อ ศาสนา และชาติพันธุ์ รวมทั้งพรมแดนที่แบ่งเขตประเทศ เราทุกคนต่างมีความเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือความเป็น “มนุษย์โลก” และการที่เห็นเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกกำลัง

ตกระกำลำบาก เราในฐานะที่เป็นมนุษย์เหมือนกันจะไม่ยื่นมือเข้าไปช่วยเลยเหรอ? วิกฤตผู้ลี้ภัยทั่วโลกในขณะนี้อาจทำให้พวกเราหันกลับมามอง “ความเป็นมนุษย์” ของเพื่อนร่วมโลกมากยิ่งขึ้น แทนที่จะนำความแตกต่างภายนอกมาแบ่งแยกและลดทอนความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ หนึ่งในผู้ลี้ภัยและยอดอัจฉริยะเจ้าของทฤษฎีและสมการพลิกโลกเคยกล่าวไว้ว่า "โลกใบนี้จะไม่พินาศด้วยน้ำมือของคนชั่ว แต่มันจะพังพินาศด้วยน้ำมือของคนที่ได้แต่มอง แต่ไม่คิดจะทำอะไรเลยต่างหาก"

"The world will not be destroyed by those who will do evil, But by those who watch them without doing anything." คนหนึ่งคนอาจไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้ แต่ถ้าเราเริ่มคิด เริ่มเชื่อและมองเห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน และแตกหน่อความคิดนั้นไปให้กับคนอื่นๆ มันอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้ทุกคนมองในแบบที่เรามอง แต่มันไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะมองคนอื่นเป็น “มนุษย์” เหมือนกับเราและลงมือช่วยเหลือพวกเขาเมื่อมีโอกาส

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วันเต่าโลก